สมองทั้งสามแบบ ทฤษฎีของ Dr. Bruce Perry จากหนังสือ "Raising Kids with Big, Baffling Behaviors"

ทฤษฎีของ Dr. Bruce Perry จากหนังสือ "Raising Kids with Big, Baffling Behaviors" อธิบายถึงการทำงานของสมองผ่านการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของสัตว์สามชนิด ได้แก่ นกฮูก หมาเฝ้าบ้าน และพอสซั่ม โดยเชื่อมโยงกับโหมดการทำงานของสมองสองแบบคือ Protection Mode และ Connection Mode

สมองแบบนกฮูก (Owl Brain) - สมองส่วนบน (Neocortex)
เปรียบได้กับการทำงานของสมองส่วนบน ที่เกี่ยวข้องกับการคิดอย่างมีเหตุผล การวางแผน การแก้ปัญหา และการควบคุมอารมณ์

Connection Mode: สมองนกฮูกทำงานได้ดีที่สุดเมื่อเราอยู่ในสภาวะสงบและรู้สึกปลอดภัย ซึ่งทำให้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีเหตุผล

พ่อแม่ เมื่ออยู่ในโหมดนกฮูก พ่อแม่จะมีความสงบ มีสติ และสามารถพูดคุยกับลูกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ฟังและเข้าใจความรู้สึกของลูก ช่วยแก้ปัญหาด้วยเหตุผล

การตอบสนองของลูก: ลูกมักรู้สึกปลอดภัยและเข้าใจว่าตนเองมีคุณค่า สามารถสื่อสารความรู้สึกและความต้องการได้อย่างเปิดเผย
พัฒนาการด้านอารมณ์และการแก้ปัญหาจะดีขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการเชื่อมโยง (Connection Mode)

สมองแบบหมาเฝ้าบ้าน (Watchdog Brain) - สมองส่วนกลาง (Limbic Brain)
เปรียบได้กับสมองส่วนกลางที่ควบคุมอารมณ์และการตอบสนองต่อภัยคุกคาม เช่น ความกลัวและความโกรธ

Protection Mode: เมื่อสมองหมาเฝ้าบ้านทำงาน เราจะรู้สึกระแวงหรือกังวล
ทำให้ตอบสนองแบบต่อสู้หรือหนี (fight or flight) โดยอาจจะพูดเสียงดังหรือโกรธง่ายขึ้น

พ่อแม่ในโหมดหมาเฝ้าบ้านจะมีการตอบสนองต่อพฤติกรรมลูกอย่างรวดเร็ว
บางครั้งอาจตะโกนหรือดุด่าด้วยความโกรธ เพราะรู้สึกว่าต้องปกป้องหรือแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

การตอบสนองของลูก: ลูกอาจรู้สึกหวาดกลัว เครียด หรือมีพฤติกรรมตอบโต้ทันที ไม่ยอมเชื่อฟัง หรือกลายเป็นคนเงียบขรึมเกินไป
เป็นสัญญาณว่าสมองลูกอยู่ในโหมดป้องกันเช่นกัน พัฒนาการทางอารมณ์และความเชื่อมั่นในตัวเองจะลดลง

สมองแบบพอสซั่ม (Possum Brain) - สมองส่วนล่าง (Reptilian Brain)
เปรียบได้กับสมองส่วนล่างที่ควบคุมการตอบสนองที่เป็นพื้นฐานที่สุดของร่างกาย เช่น การนิ่ง การหนี หรือการปกป้องตัวเอง

Protection Mode: ในสถานการณ์ที่รู้สึกกลัวหรือเครียดมาก สมองพอสซั่มจะทำงาน
ทำให้เกิดการตอบสนองแบบหลีกเลี่ยง เช่น การไม่ตอบสนอง นิ่งเฉย หรือแสดงท่าทีแกล้งตาย

พ่อแม่ในโหมดพอสซั่มอาจไม่ตอบสนองหรือหลีกเลี่ยงปัญหา
หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ยากลำบาก เช่น การนิ่งเฉยเมื่อมีปัญหา หรือปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในการเลี้ยงลูก

การตอบสนองของลูก:
ลูกอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือตอบสนองด้วยการถอนตัว
หรือไม่แสดงอารมณ์ใดๆ ออกมา ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาพฤติกรรมเชิงลบ
หรือขาดความสามารถในการรับมือกับความเครียด

โดยสรุปก็คือ Protection Mode เป็นโหมดที่สมองตอบสนองโดยเน้นการปกป้องตัวเองจากภัยคุกคาม สมองหมาเฝ้าบ้านและพอสซั่มจะทำงานในโหมดนี้ ทำให้เราเน้นการเอาตัวรอด เช่น ต่อสู้ หนี หรือหยุดนิ่ง ไม่พร้อมที่จะสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อสร้างความสัมพันธ์

Connection Mode เป็นโหมดที่สมองพร้อมที่จะเชื่อมต่อและสื่อสารกับผู้อื่น โดยใช้สมองนกฮูก ทำให้เราสามารถเข้าใจผู้อื่น ฟังอย่างมีเหตุผล และแก้ไขปัญหาด้วยความสงบ

สำรวจตัวเองก่อนตอบสนองเด็กนะคะ เมื่อพ่อแม่ทำได้ จะเป็นแบบอย่างที่ดี

เด็กๆจะเรียนรู้ที่จะสงบ แล้วสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ค่ะ

SLP ปาล์ม

Previous
Previous

เด็กดอกไม้ “The Orchid and the Dandelion”